EP1: รู้ปรัชญาไปทำไม? [shortcut ปรัชญา]

pkinnn
2 min readApr 14, 2024

--

*หมายเหตุ ข้อเขียนนี้เป็นบันทึกที่ผมคิดระหว่างเตรียมเนื้อหาสำหรับรายการ Shortcut ปรัชญา ไม่ได้มีจุดประสงค์อะไรมากไปกว่าการเรียบเรียงเนื้อหา พูดคุยกับตัวเอง และเป็นใช้เชิงอรรถสำหรับประเด็นที่อยากพูด แต่ไม่สามารถพูดหรืออธิบายได้ละเอียดภายในเวลาอันจำกัด

ผมไม่ได้อยู่ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางปรัชญาในทางวิชาการ และยิ่งไม่ได้เชี่ยวชาญในการตอบคำถามยากๆ ในชีวิตมากไปกว่าคนอื่น เนื้อหาในข้อเขียนนี้ รวมถึงในรายการ เรียบเรียงจากความเข้าใจของผมเองต่องานเขียนและประเด็นทางปรัชญาที่อ่าน คิด เขียน แปล และที่สำคัญที่สุดคือ พูดคุย กับมิตรสหายที่สนใจอะไรคล้ายๆ กันมาตลอดหลายปี

จุดมุ่งหมายจริงๆ ในฐานะโฮสต์ของรายการ คือการทำให้คนทั่วๆ ไปที่ไม่เคยสนใจปรัชญา หรือไม่เคยเห็นแง่งามของมันมาก่อน รู้สึกว่ามันน่าสนใจ สนุก และใกล้ตัวกว่าที่คิด ส่วนจะทำสำเร็จหรือไม่อย่างไร คงต้องให้ผู้อ่าน ฟัง ชม เป็นคนตัดสิน

EP1: วันหนึ่งชีวิตจะทำให้เราเป็นนักปรัชญา?

คำถามว่า ‘รู้ปรัชญาไปทำไม’ หรือรู้แล้วมีประโยชน์อะไร เป็นคำถามที่นักปรัชญาน่าจะไม่ค่อยสนใจ หรือไม่บางคนอาจจะตอบง่ายๆ เลยว่ามันไม่ค่อยมีประโยชน์ และไม่ได้จำเป็นต้องรู้

ซึ่งก็คงจริง โดยเฉพาะถ้าคำว่า ‘ปรัชญา’ หมายถึง การถกเถียงในประเด็นทางวิชาการของสาขาวิชาปรัชญากันอย่างหน้าดำคร่ำเครียด เพื่อเจาะลึกถึงหัวข้อที่มองยังไงก็ไม่แน่ใจว่าสำคัญตรงไหน เพื่อประโยชน์ซึ่งก็ไม่มีใครฟันธงได้อยู่ดีว่าคืออะไรกันแน่

แต่ในอีกมุม หากเรานิยามปรัชญาให้กว้างขึ้น คือมองมันในฐานะกระบวนการคิดและตั้งคำถามต่อชีวิตและโลกที่เราอาศัยอยู่ ไม่ใช่เพียงสาขาความรู้แขนงหนึ่ง เป็นไปได้ที่เราจะมองเห็นว่า ประเด็นทางปรัชญาทั้งหลาย โดยมากแล้วสัมพันธ์กับชีวิตเรา หนีไปไม่ค่อยพ้น และมีเหตุจำเป็นให้ควรคิดถึงมันอยู่บ้าง

ปรัชญาเริ่มต้นที่คำถาม

โดยทั่วไป ผมคิดว่าเราพอพูดได้อย่างมั่นใจว่า ปรัชญาคือศาสตร์หรือสาขาวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับความเป็นไปหรือ ‘ธรรมชาติ’* ของสรรพสิ่ง ทั้งที่เห็นได้ด้วยตาและเห็นไม่ได้ด้วยตา อยู่ในโลก** หรืออยู่พ้นไปจากโลกที่เราแต่ละคนเข้าใจ

คนมักพูดกันว่าปรัชญาเป็นเรื่องความรู้และความรักที่จะรู้ ดังนั้น เพื่อที่จะรู้ให้มากขึ้น นักปรัชญาจึงต้องตั้งคำถาม อริสโตเติลเคยเปรียบเปรยไว้ทำนองว่า ปรัชญา หรือความรักในความรู้ ปรากฏขึ้นเมื่อมนุษย์เราสงสัยและอัศจรรย์ใจในสรรพสิ่ง

ปรัชญาเกิดขึ้นทันทีเมื่อเราถามคำถาม

ทว่าการตั้งคำถามไม่ได้เป็นสิ่งพิเศษที่มีแต่นักปรัชญาเท่านั้นที่ทำได้ กลับกันเลย มนุษย์เราถามคำถามมากมายเมื่อเราเป็นเด็ก เราเคยอยากรู้ อยากรู้ และอยากรู้ เราถามคำถามมากมายที่ผู้คนรอบตัวตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังอยากรู้

จนกระทั่งวันหนึ่ง เราอาจอยากรู้น้อยลง อยากเข้าใจน้อยลง เพราะเราต้องทำ ทำ ทำ ให้มากขึ้นจนแทบไม่มีเวลาได้หยุดคิดหยุดสงสัย เพราะสังคมที่เราอาศัยจัดสรรคำตอบให้เราแล้วพร้อมสรรพ เพราะคำถามจำนวนมากถูกมองว่าไร้สาระ เสียเวลา ไม่ควรถาม กล้าดียังไงถึงถาม! เธอเป็นใครถึงถาม!

แต่เป็นไปได้มากว่าเราทุกคนจะกลับมาถามคำถามมากมายอีกครั้งในช่วงบั้นปลายชีวิต หรือไม่ก็เมื่อชีวิตเริ่มไม่ได้เป็นอย่างที่ใครๆ เคยบอกไว้

เราทำงานไปทำไม ทำไมต้องเหนื่อยขนาดนี้ด้วย ทำไมมีเงินแล้วถึงไม่มีความสุข ชีวิตเราต้องประสบความสำเร็จเหมือนคนอื่นไหม อะไรคือนิยามของการประสบความสำเร็จ ชีวิตแบบไหนกันแน่ที่ดี ใครเป็นคนนิยามว่าอะไรดีหรือไม่ดีบ้าง ตัวเองมีความสุขก็พอแล้วใช่ไหม ชีวิตเป็นของเราหรือเปล่า เราเกิดมาเพื่ออะไร อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตเรา

ผมนึกถึงข้อความแรกสุดที่อ้างถึงไว้ในหนังสือ “รถด่วนขบวนปรัชญา” ของเอริค วีเนอร์ ข้อความของมอริซ รีเซอริง ที่ว่า “ไม่ช้าก็เร็ว ชีวิตจะทำให้เรากลายเป็นนักปรัชญา”

แต่ปรัชญายังตอบด้วย

การตั้งคำถามและความสงสัยที่เรามีต่อชีวิตและธรรมชาติของสรรพสิ่ง ว่าอะไรบ้างที่ดี อะไรบ้างที่จริง อะไรบ้างที่งาม อะไรบ้างที่มีความหมาย เรารู้สิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร และทำไมโลกจึงดำเนินไปแบบที่มันเป็น เหล่านี้ล้วนแต่เป็นความสามารถหนึ่งที่ติดตัวมนุษย์เรามาแต่ไหนแต่ไร ในแง่นี้ เราทุกคนจึงนักปรัชญาไปแล้วก้าวหนึ่ง

แต่นักปรัชญาไม่ได้เพียงถาม และนักปรัชญาที่มักถามคำถามที่ดูชวนทะเลาะและกวนใจผู้คน เช่น โสเครติส ก็ไม่ได้ถามเพียงเพื่ออยากจะถามและกวนใจผู้คน (ใช่ไหมนะ?)

เป้าหมายของการถามอยู่ที่การรู้ให้มากขึ้น เข้าใจให้มากขึ้น ดังนั้น การทำปรัชญา (to philosophize) จึงเป็นเรื่องของการถาม คิด สังเกต คาดคะเน และเสนอคำตอบหรือข้อถกเถียง ด้วยเหตุด้วยเหตุผล เพื่อให้เรารู้มากขึ้น เข้าใจมากขึ้น เท่าที่เป็นไปได้

พูดอีกแบบ ปรัชญาจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรู้และวิธีการหาความรู้ เป็นเรื่องของการตั้งคำถามและตอบคำถาม โดยอาศัยเครื่องมือหลักคือการถกเถียงและการใช้เหตุผลเป็นสำคัญ

ปรัชญาเป็นเรื่องยาก

ภาพลักษณ์ติดตัวอย่างหนึ่งของปรัชญา คือยังไงก็เป็นเรื่องยากและน่าปวดหัว คนเรียนปรัชญาต้องคุยเรื่องที่คนอื่นฟังไม่รู้เรื่อง หนังสือปรัชญาต้องเต็มไปด้วยประโยคซ้อนประโยคที่อาจไปแล้วก็ไม่รู้จะได้อะไร

ภาพลักษณ์พวกนี้ไม่ได้ถึงกับผิดจากความเป็นจริง แต่หากเรามองปรัชญาในความหมายกว้าง ประเด็นทางปรัชญาจำนวนมากอยู่ในชีวิตเราอยู่แล้ว และวิธีตอบคำถามเหล่านั้นก็ไม่ได้มาจากใครที่ไหน นอกจากมนุษย์ธรรมดาๆ เช่นพวกเราทุกคน

อย่างไรก็ตาม การตอบคำถามทางปรัชญา ซึ่งโดยมากมักเป็นคำถามเชิงนิยาม (มีอะไรอยู่บ้าง สิ่งนั้นคืออะไร ฯลฯ) และเชิงคุณค่า (อะไรดี อะไรงาม อะไรมีความหมายฯลฯ) เป็นเรื่องยากและชวนปวดหัวจริงๆ โดยเฉพาะสำหรับมือใหม่

ผมมักเปรียบมันเหมือนกับความยากและน่าปวดหัวของการว่ายน้ำโดยที่เราว่ายน้ำไม่เป็น ไม่เคยเรียนมาก่อน ยังไม่ได้ฝึกร่างกายและลมหายใจมามากพอ

ในระดับหนึ่ง ความยากของปรัชญาเป็นเรื่องเชิงเทคนิค เปรียบไปก็เหมือนท่าทางตอนกระโดดลงน้ำ จังหวะเหวี่ยงแขนและเคลื่อนไหวร่างกาย วิธีฝึกลมหายใจและสร้างความแข็งแรงให้ปอด ซึ่งมีรายละเอียดยิบย่อยแตกต่างกันมากมายให้ต้องเรียนรู้

แต่เพื่อว่ายให้ไปถึงฝั่ง ปรัชญาเสนอวิธีการให้เราหลายวิธี ว่ายได้หลายท่า และสุดท้ายเป็นเราที่เลือกวิธีการเหล่านั้นด้วยตัวเองได้ หรือจะไม่ต้องขึ้นฝั่งก็ยังได้ ไม่ได้มีข้อบังคับ

การทำปรัชญาจึงคล้ายการเริ่มทำตัวให้คุ้นเคยกับแหล่งน้ำ ซึ่งมีได้ทั้งนิ่งลึกและเชี่ยวกราก การได้อ่านงานเขียนทางปรัชญาคงคล้ายกับการลงคอร์สเรียนกับครูสอนว่ายน้ำที่มีสไตล์การสอนที่แตกต่างกันและมองเห็นประโยชน์ของการว่ายน้ำเป็นไม่เหมือนกันเสียด้วย

ท้ายที่สุด เมื่อฝึกฝนมากขึ้น เรียนรู้มากขึ้น คิดมากขึ้น เราจะแข็งแกร่งขึ้น ทำมันได้ดีขึ้นไม่มากก็น้อย

แต่ถึงอย่างนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องว่ายน้ำเป็นเสียหน่อยไม่ใช่หรือไง!? แล้วเราจะฝึกฝนไปเพื่ออะไรกัน?

ทำไมต้องสนใจปรัชญา

เพราะจริงๆ เราไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่บนบก แต่อยู่ในน้ำ

บางคนกำลังจะจม บางคนลอยคออยู่ในทะเล บางคนอยู่ได้เพราะเสื้อชูชีพ บางคนเกาะแขนเกาะไหล่คนข้างๆ ไว้เป็นแพมนุษย์ บางคนโชคดีหน่อยได้อยู่บนแพยาง บางคนได้นั่งอัดๆ กันบนเรือลำเล็ก ขณะที่มีมนุษย์กลุ่มเล็กๆ ได้ใช้ชีวิตสะดวกสบายอยู่บนเรือเดินสมุทรลำหรู และคนกลุ่มสุดท้ายนี้มักเป็นคนกำลังว่าใครควรอยู่บนเรือ ใครต้องลอยคออยู่ในทะเล

ใช่ครับ ผมไม่คิดว่าเราต้องสนใจปรัชญาหรือต้องหันมาเรียนปรัชญาอะไรกันเป็นจริงเป็นจังขนาดนั้น ไม่ได้คิดว่าปรัชญาในฐานะสาชาวิชาหนึ่งจะสลักสำคัญต่อชีวิตมากไปกว่าสาขาวิชาใดๆ

แต่ปัญหาเดียวที่ผมคิดว่าคนที่ไม่สนใจปรัชญามักไม่ระวัง คือต่อให้เราไม่คิดเรื่องปรัชญา แต่ชีวิตส่วนตัวและชีวิตสาธารณะของเราล้วนห้อมล้อมไว้ด้วยคำถามเชิงปรัชญา ที่ถึงที่สุด ต่อให้เราหลีกหนีไม่ยอมตอบ หรือถูกสอนให้รู้สึกว่าไม่ควรต้องเสียเวลาไปตอบ ก็จะมีคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีอำนาจพอ คอยตอบคำถามเหล่านั้นให้อยู่ดี

ซ้ำร้าย คำตอบพวกนั้นยังกำหนดและกระทบต่อความเป็นไป แบบแผน และแนวทางการดำเนินชีวิตของเราแบบเลี่ยงไม่ได้

คำถามเหล่านั้นอาจไม่ใช่คำถามที่ฟังดู “ปรัชญา” เลยในทีแรก แต่รากฐานของมันคือเรื่องเชิงปรัชญา เพราะเป็นเรื่องของนิยามและคุณค่า ซึ่งจะตอบได้ก็ด้วยการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล

คำถามเช่น “เราควรทำงานหนักหรือควรใช้เวลากับคนที่เรารักมากกว่า” วางอยู่บนคำถามทางปรัชญาว่า อะไรคือชีวิตที่มีคุณค่าและมีความหมาย งานคือความหมายของชีวิตใช่หรือไม่ ชีวิตที่ดีคืออะไร และเผลอๆ อาจเกี่ยวกับคำถามว่ารัฐควรแทรกแซงระบบเศรษฐกิจหรือเปล่า

“ทำไมเราต้องจ่ายภาษี” วางอยู่บนคำถามทางปรัชญาว่า อะไรบ้างในชีวิตนี้ที่เป็นของเรา ชีวิตของเราเป็นของเราขนาดไหน และรัฐบาลควรมีสิทธิ์ทำอะไรบ้างกับประชาชน

“งบประมาณของประเทศควรเอาไปใช้ทำอะไร” วางอยู่บนคำถามทางปรัชญาว่า อะไรคือคุณค่าสำคัญของการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม เรื่องไหนคือเรื่องที่เราควรนำทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดนี้ไปใช้ก่อนเรื่องอื่น เพราะเหตุใด และใครควรมีอำนาจตัดสินใจเรื่องทรัพยากรหรืองบประมาณ

คำถามทางสังคมอื่นๆ ที่เราอาจไม่คิดว่าเป็นเรื่องปรัชญา โดยมากวางอยู่บนคำถามทางปรัชญา ในความหมายว่ามันล้วนแต่เป็นเรื่องของการให้คำนิยามและคิดคำนึงเรื่องคุณค่าด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจ ศาสนา ไปจนถึงเรื่องความสัมพันธ์และความรัก

คำถามคือ คำถามพวกนี้ในสังคมของเรา ใครเป็นผู้ได้ตอบ ใครเป็นผู้มีสิทธิ์ตัดสินใจ และเราจะรู้ได้อย่างไรว่าคำตอบนั้นเป็นคำตอบที่ดี

เพราะเราไม่ค่อยถูกฝึกให้คิด ให้สงสัย และให้ถาม ไม่เคยถูกสอนว่าคำถามเหล่านี้สำคัญต่อชีวิตเราอย่างไร แต่กลับถูกสอนว่าคำตอบที่เป็นไปได้มีอะไร และไม่จำเป็นต้องสงสัย ต้องถามอะไรอีก จึงไม่แปลกที่เราจะคิดว่าปรัชญาช่างห่างไกลตัวเรา และลืมไปว่าเราลอยคออยู่ในทะเลที่แปรปรวนและคาดเดาได้ยาก ไม่ใช่ใช้ชีวิตค่อนข้างสุขสบายโดยเปรียบเทียบอยู่บนเรือยอร์ชหรือบนฝั่ง

เราไม่จำเป็นต้องรู้ปรัชญาและไม่ต้องสนใจปรัชญาก็ได้ เพราะขาดมันไปเราก็คงไม่ตาย และรู้ไปก็ไม่ได้การันตีว่าเราจะมีชีวิตที่ดีขึ้น

แต่การได้มีชีวิตที่ดีและได้อยู่ในสังคมที่ดีเป็นเรื่องปรัชญาเสมอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

และถึงที่สุด การเว้นคำถามสำคัญๆ ในชีวิตเหล่านี้ไว้ให้คนอื่นตอบ และใช้ชีวิตต่อโดยไม่ตั้งและตอบคำถาม ไม่ได้แปลว่าปรัชญาไม่เกี่ยวกับชีวิตเรา

เราเพียงแต่ยินยอมให้ “คนอื่น” ออกแบบหน้าตาของสังคม เขียนบทกำกับชีวิต แล้วถีบเราขึ้นไปแสดง.

เชิงอรรถ

* ‘ธรรมชาติ’ ในที่นี้หมายถึง ความเป็นไปหรือลักษณะพื้นฐานของสิ่งนั้นๆ เช่น ธรรมชาติของความจริง หมายความว่า จริงๆ แล้วความจริงคืออะไรและมีลักษณะอย่างไร

** ‘โลก’ ในทางปรัชญามักไม่ได้หมายถึงดาวโลก แต่ยังหมายถึงความรู้ความเข้าใจของคนคนหนึ่งที่มีต่อชีวิตและสรรพสิ่งรอบตัวที่ตัวเขาสัมพันธ์ด้วย ในแง่นี้ ‘โลก’ ของมนุษย์แต่ละคนจึงอาจไม่เหมือนกัน เช่น ในโลกของบางคน มีผีสางนางไม้และเทพเจ้า ดังนั้นจึงบีบแตรรถเมื่อขับผ่านแยก ยกมือไหว้เมื่อเห็นศาลเจ้า ห้อยพระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ขณะที่ในโลกของบางคน สิ่งเหนือธรรมชาติไม่มีอยู่จริง จึงไม่ได้มีพฤติกรรมแบบนี้เดียวกัน

--

--