ปัญหาจริงๆ ของการใช้บล็อกเชนในการเลือกตั้ง

pkinnn
2 min readMar 7, 2022

--

ผมเพิ่งมีโอกาสได้ฟังพี่บิท Bitcast คุยเรื่องคริปโตกับนักการเมืองแล้วมีประเด็นนึงที่อยากโน้ตไว้ แทบทุกคนพูดคล้ายๆ กันถึงการประโยชน์ของการนำบล็อกเชนมาใช้จัดการเลือกตั้ง

เอาจริงๆ คนที่อินกับคริปโต/บล็อกเชนหลายคนก็ยัง ‘ศรัทธา’ มากๆ ว่า การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนจะแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโกงการเลือกตั้งได้ แต่ได้ยังไง และได้จริงหรือเปล่าเป็นเรื่องที่คนพูดถึงกันน้อย

จริงๆ ข้อถกเถียงเรื่องนี้มีคนพูดถึงเยอะมากทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษนะครับ สำหรับคนที่สนใจ ผมคิดว่านายอาร์มสรุปปัญหาหลักๆ ของเรื่องนี้ไว้ได้กระชับเลย ในบทความนี้ผมอยากชวนคิดต่อถึงสองประเด็นที่คนมักเข้าใจผิด นั่นคือ

(1) “บล็อกเชน” ไม่จำเป็นต้องปลอดภัย โปร่งใส และแก้ไขไม่ได้เสมอไป และ

(2) การเลือกตั้งเป็นแค่ส่วนเดียวของการเมืองที่ดี การแก้ปัญหาเฉพาะในวันเลือกตั้งโดยไม่สนใจปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ เลย จึงอาจไม่ช่วยอะไรนัก

ประเด็นแรกชัดเจนในตัวเองอยู่แล้วถ้าเราลองศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับบล็อกเชนมากกว่าแค่ฟัง buzzword แล้วอินกับโลกอนาคตในจินตนาการเฉยๆ

บล็อกเชนคือระบบการบันทึกการทำธุรกรรม (ledger) ที่มีผู้(คน/คอม)คอยบันทึกและตรวจสอบธุรกรรมไปพร้อมๆ กันจำนวนมาก (distributed) โดยที่ข้อมูลที่บันทึกและตรวจสอบแล้วจะถูกเก็บเรียงต่อกันเป็นบล็อกๆ และทุกบล็อกใหม่จะบันทึกข้อมูลของบล็อกก่อนหน้าไว้ จึงทำให้ยากมากๆ ต่อการปลอมแปลงข้อมูล

เมื่อผู้บันทึกและตรวจสอบไม่ได้มีเพียงคนเดียว ทั้งยังสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ด้วยการย้อนกลับไปดูข้อมูลก่อนหน้าได้ ทุกอย่างบนบล็อกเชนย่อมจะโปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่มีใครแก้ไขได้ trustless and decentralize ฟินๆ กันไป เว้นเสียแต่ว่า…

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนที่คอยบันทึกและตรวจสอบความถูกต้องมีเพียงไม่กี่คนอยู่ดี หรือต่อให้มีมาก แต่ทุกคนรู้จักกันและอยู่ภายใต้การควบคุมของคนกลุ่มเดียวกัน ใช่ครับ การบันทึกและตรวจสอบธุรกรรมบนบล็อกเชนผ่านการประมวลผลคอมพิวเตอร์หรือรันโหนด ไม่จำเป็นต้องกระจายศูนย์เลยแม้แต่น้อย บล็อกเชนจะโปร่งใสมากน้อยขึ้นอยู่กับ (1) จำนวนคน/คอมที่เข้ามามีส่วนร่วมบันทึกและตรวจสอบความถูกต้อง และ (2) เงื่อนไขและความสัมพันธ์ระหว่างคนเหล่านั้น เพราะถ้าปล่อยให้คนกลุ่มเดียวกันรันโหนดโดยไม่มีการออกแบบกลไกใดๆ เพิ่มเติมเลย ต่อให้มีเป็นล้านโหนด สุดท้ายก็ต้องกลับมา ‘ไว้ใจ’ ตัวกลางว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงข้อมูลที่บันทึกไว้ตามใจชอบอยู่

สิ่งนี้เลยเป็นปัญหาที่หนึ่งของการใช้บล็อกเชน คือเรายอมไว้ใจให้มีองค์กรกลางเป็นคนรันโหนดให้เราไหม หรือควรกระจายอำนาจให้คนกลุ่มอื่น ประเทศอื่น หรือประชาชนทั่วไปช่วยกันรันโหนดอย่างเป็นสาธารณะ

ถ้าเลือกช้อยส์แรก สุดท้ายเราต้อง ‘ไว้ใจ’ ใครบางคนอยู่ดีหรือเปล่า ถ้าเราเลือกช้อยส์หลัก เราก็ปล่อยคนที่รันโหนดไปเฉยๆ ไม่ได้ เพราะจะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีการฮั้วกันในโหนดส่วนใหญ่ (เกิน 51%) ให้เปลี่ยนผลการเลือกตั้งไปตามใจชอบ

สุดท้าย เราจำเป็นต้องคิดระบบตรวจสอบหรือมาตรการอื่นๆ เพื่อจัดการกันการรันโหนดเหล่านี้ เราจะเลือกยังไง อนุญาตใครบ้าง ไม่นับปัญหาการแฮก ไวรัส และบั๊คต่างๆ การได้มาซึ่งความสะดวกรวดเร็วและลดต้นทุนในการจัดการเลือกตั้งในหลายพื้นที่ อาจแลกมาด้วยต้นทุนและปัญหาน่าปวดหัวตามมาอีกมาก ซึ่งไม่ได้แปลว่าบล็อกเชนไม่ดี เพียงแต่มันมีข้อจำกัดบางอย่างที่ยังต้องระมัดระวัง

แต่ปัญหาที่สองที่ผมว่าใหญ่กว่า คือความเข้าใจทำนองว่า บล็อกเชน = ยาสารพัดนึก ที่เอาไปประกอบกับอะไรก็ได้ แก้ปัญหาได้หมด เพราะบล็อกเชนจะทำให้ทุกสิ่งโปร่งใส เมื่อโปร่งใส ตรวจสอบได้ จึงเท่ากับว่าทุกอย่างบนบล็อกเชน “เป็นความจริง”

ผมคิดว่าคนที่ชำนาญด้านเทคโนโลยีหลายคนเคยเตือนเรื่องนี้ไว้ต่างที่ต่างเวลา ว่าจริง แล้วบล็อกเชนไม่ใช่เครื่องมือตรวจสอบความถูกต้องในตัวมันเอง พูดง่ายๆ คือถ้าเราใส่ข้อมูลที่ผิดเข้าไปตั้งแต่ต้น แล้วให้ทุกคนมารันโหนดแบบกระจายศูนย์ไปเรื่อยๆ การกลับมาแก้ข้อมูลที่ผิดก็จะเป็นเรื่องยากเสียยิ่งกว่ายาก

ข้อมูลในบล็อกเชนจึงเป็นแค่ข้อมูลที่ได้รับการพิสูจน์ว่า “เหมือนกัน” ในทุกๆ โหนด แต่ไม่จำเป็นว่าต้อง “เป็นความจริง” แต่อย่างใด

ถ้าเชื่อมโยงกับการเลือกตั้ง ก็แปลว่า ก่อนจะบันทึกผลการลงคะแนนลงบนบล็อกเชน ถ้าเกิดการแฮกหรือการโกงอะไรบางอย่าง เกิดบัตรเขย่ง หรือมีคนสวมสิทธิ์มาเลือกตั้งแทนเรา ข้อมูลที่ได้รับการประกาศลงบนบล็อกเชนก็จะไม่ใช่ข้อมูลที่ “ถูกต้อง” แต่จะเป็นข้อมูลที่ “เป็นจริง” ในระบบบล็อกเชนเท่านั้น

ประเด็นนี้สำคัญมากครับ เพราะนั่นแหละว่าการจะเอาบล็อกเชนมาแก้ไขปัญหาอะไรเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องออกแบบระบบและกระบวนการอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่ตัวบล็อกเชนเสมอ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีการเลือกตั้ง จำเป็นมากๆ ที่เราจะต้องมีระบบพิสูจน์ยืนยันตัวตนของผู้ใช้สิทธิ์ ว่าคนที่เลือกวันนั้นๆ คือคนคนนั้นจริง ต้องตรวจสอบได้ว่าไม่มีการสร้างสิทธิ์เกินจำนวนคนที่มีสิทธิ์ และต้องตรวจสอบได้ว่าคนที่มาใช้สิทธิ์ที่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องแล้วนั้น เลือกอะไร

ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศเอสโตเนีย ซึ่งเลือกตั้งผ่านบล็อกเชนมาตั้งแต่ปี 2005 มีการใช้ข้อมูล biometrics ประกอบกับบัตรประชาชนดิจิทัล เพื่อยืนยันตัวตนผู้มีสิทธิก่อนในขั้นแรก

จากนั้นหลังจากเลือกและส่งคะแนนเข้าสู่ระบบแล้ว ก็จะใช้กระบวนการตรวจสอบความถูกต้องด้วยระบบที่เรียกว่า ‘จดหมายสองฉบับ’ (two-envelop system) อุปมาเหมือนการใส่คะแนนเสียงของเราในจดหมายฉบับแรก แล้วเอาจดหมายฉบับนั้นใส่เข้าไปในจดหมายอีกฉบับที่มีชื่อเราอยู่ โดยสิ่งที่เชื่อมจดหมายทั้งสองฉบับนี้คือกระบวนการเข้ารหัสแบบที่เรารู้จักกันทั่วๆ ไปเวลาสร้างกระเป๋าคริปโตนั่นเอง

ในกรณีนี้ ผู้จัดการเลือกตั้ง ซึ่งมีโค้ดถอดรหัสของซองจดหมายแรก จะสามารถตรวจสอบได้ก่อนว่าบัตรเลือกตั้งทุกใบถูกส่งมาจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจริง เมื่อเปิดซองแรกครบทั้งหมด ก็ค่อยนำซองที่สองมาสลับตำแหน่งกันเพื่อปกป้องความนิรนามของผู้ลงคะแนน จากนั้นจึงค่อยเปิดซองจดหมายที่สองของทุกๆ คนเพื่อนับคะแนนให้ถูกต้อง

เท่านี้เราก็จะสามารถตรวจสอบว่าใครมาใช้สิทธิ์บ้าง และมั่นใจได้ว่าทุกเสียงที่ถูกเลือกมาจากผู้มาใช้สิทธิ์ที่ถูกต้อง โดยอาจจะมีกระบวนการอื่นๆ ที่ช่วยให้ผู้เลือกตั้งสามารถตรวจสอบการลงคะแนนของตัวเองได้อีกที และไม่ต้องเปิดเผยให้ทุกคนรู้ว่าผู้ใช้สิทธิ์แต่ละคนเลือกอะไรไป ซึ่งก็ดูเหมือนจะแก้ปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัว vs. ความโปร่งใสไปได้เปราะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ใหญ่กว่าและทับซ้อนกันอยู่คือ เราจะมั่นใจได้อย่างไรต่อให้ผู้ใช้สิทธิ์คือเจ้าตัวจริงๆ แต่จะไม่มีคนกลุ่มอิทธิพลอื่นๆ มาพยายามบีบบีงคับ แทรกแซง หรือภาษาที่คนไทยเราได้ยินแล้วหลอนเลย คือ “ซื้อสิทธิ์ขายเสียง” จูงใจให้คนคนนั้นเลือกสิ่งที่ขัดต่อความต้องการของเขาเอง

ในแง่การออกแบบกระบวนการเลือกตั้ง เอสโตเนียใช้วิธีการให้ประชาชนสามารถลงคะแนนกี่ครั้งก็ได้จนกระทั่ง 3 วันก่อนวันเลือกตั้งที่คูหา และถ้าใครเลือกออนไลน์ไปแล้วอยากเปลี่ยนใจ ก็สามารถไปกากบาทเองที่คูหาในวันสุดท้ายได้เลย ว่ากันว่ากระบวนการนี้ทำให้การโกงการเลือกตั้งมีต้นทุนสูงขึ้น เพราะสุดท้ายก็ต้องบังคับหรือจูงใจกันจนวันสุดท้ายถ้าต้องการให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนให้ฝ่ายตน

แต่ถ้ากระบวนการโกงซับซ้อนกว่านั้นล่ะ เช่น จริงๆ แล้วการซื้อสิทธิ์ขายเสียงไม่ใช่แค่การให้เงินแล้วคุณไปเลือกตามที่เขาอยากให้เลือก แต่คือการจูงใจแกมบังคับให้คุณยอมรับเงินแลกกับให้ผู้ซื้อเสียงยึดบัตรประชาชนของคุณไป จนทำให้คุณไปเลือกตั้งไม่ได้ในกรณีที่คุณเป็นฐานเสียงของฝ่ายตรงข้าม และถ้าคุณไม่ยอม คุณอาจจะถูกทำร้ายและถูกกลั่นแกล้งทางกฎหมาย เพราะผู้ซื้อเสียงเหล่านี้ล้วนแต่มีเส้นสายกับผู้มีอำนาจท้องถิ่นล่ะ เราแก้ปัญหานี้ยังไง

งานศึกษาวิจัยด้านการเลือกตั้งในประเทศไทยดีๆ หลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า การซื้อสิทธิ์ขายเสียงเป็นยอดของภูเขาน้ำแข็งและมีความซับซ้อนกว่าที่เราเข้าใจมาก

ในขณะที่การแจกเงินให้คนชนบทรายคนถูกให้ภาพว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ การ “ดีล” โครงการบางอย่างมาพัฒนาพื้นที่ของตัวเองอย่างไม่โปร่งใส หรือการให้คำปรึกษาทางกฎหมายฟรีหรือเอื้อประโยชน์บางอย่างแก่เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อจูงใจให้เขาเลือก และช่วยโน้มน้าวชาวบ้านให้เลือกคนฝ่ายตนเองไม่ค่อยถูกนับว่าเป็นปัญหา หรือต่อให้เห็นก็ไม่ได้ ‘สำคัญ’ เท่าการเลือกตั้งซึ่งถูกนำเสนอว่าเป็นต้นตอของปัญหาการเมืองไทยทั้งหมด

นอกจากนั้น มีหลักฐานว่าชาวบ้านหลายพื้นที่พยายามต่อสู้กับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นที่เป็นฝ่ายซื้อเสียง แต่กฎหมาย หน่วยงานของรัฐ และระบบตรวจสอบอื่นๆ ไม่ได้ช่วยหรือเอื้ออำนวยให้พวกเขาสู้ได้

ใครโชคดีสู้แล้วอาจชีวิตรอดไป ใครโชคร้าย การต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในท้องถิ่นก็จะเป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้ายในชีวิตที่คนเมืองที่มีการศึกษาดีกว่าจะไม่มีวันรู้จัก

เวลาพูดถึงปัญหานี้ เรามองเห็นแต่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง แต่ไม่เต็มยอดเสียด้วย เพราะเรามักเห็นด้านของการ “ขายเสียง” ชัดกว่าการ “ซื้อเสียง” เสมอ เมื่ออย่างหลังชัดกว่าอย่างแรก เราเลยเชื่อว่าวิธีการแก้ไขปัญหานี้ต้องเริ่มจากการปลูกจิตสำนึก หรือใช้เทคโนโลยีอะไรบางอย่างที่ทำให้การ “ขายเสียง” เกิดขึ้นได้ยากขึ้น

แต่ลองตั้งคำถามกันไหมครับว่า ทำไมนะคนบางคนจึง “ซื้อเสียง” ได้โดยไม่ผิด โกงได้โดยไม่ถูกลงโทษ ทำไมคนบางคนหรือบางกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นหัวคะแนนหรือผู้ทรงอิทธิพลที่ “ซื้อเสียง” จึงได้มีอิทธิพลมากมายขนาดนั้นในพื้นที่ของตน

คำถามนี้ตอบได้หลายแบบ และความเข้าใจต่อสังคมเราจะเปลี่ยนไปแน่ๆ ขอเพียงแค่เราเริ่มตั้งคำถาม

เป็นไปได้ไหมว่า สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นขึ้น ก็เพราะตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา รัฐส่วนกลางไม่เคยทำอะไรเพื่อพัฒนาพื้นที่นั้นๆ อย่างเป็นรูปธรรมเลย อีกทั้งกฎหมายยังไม่ได้เอื้อให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอำนาจในการดูแลตัวเองมากพอ แต่ยังต้องพึ่งพิงกับอะไรบางอย่างที่ ‘บ้านใหญ่’ ในแต่ละท้องที่เป็นผู้จัดหาให้ พูดอีกอย่างคือ ก็คนเหล่านี้แหละที่ทำให้ชีวิตของชาวบ้านดีขึ้นจริง แม้ว่าเบื้องลึกเบื้องหลังอาจจะไม่ขาดสะอาดอย่างที่เราอยากจะเห็น

ลองนึกภาพนักการเมืองท้องถิ่นที่ต้องพยายามแข่งขันกันเพื่อ ‘แย่งงบประมาณ’ มาพัฒนาท้องถิ่น ภาพนักการเมืองต่างจังหวัดที่สวามิภักดิ์และเข้าหา ‘พี่ใหญ่’ เพื่อดีลงบประมาณมาลงในพื้ที่ของตัวเองคือสิ่งที่คนอายุ 30 ขึ้นไปเห็นกันจนชินตา หลายคนย้ายพรรคไปเรื่อยๆ ตามแต่ ‘ผลประโยชน์’ ซึ่งเป็นคำที่ฟังดูน่าเกลียดน่ากลัวสำหรับหลายคน

อะไรแบบนี้เกิดขึ้นได้เพราะอะไร ถ้าเราลองตั้งคำถามและพยายามหาคำตอบสักนิด เราจะพบว่า สาเหตุหลักๆ เป็นเพราะงบประมาณต่างๆ ไม่ใช่เรื่องที่แต่ละจังหวัดตัดสินใจได้ด้วยตัวเองเลย การทำโครงการอาจเป็นเรื่องของท้องถิ่น แต่เงินทองที่หาได้จากท้องถิ่นถูกส่งกลับเขากรุงเทพฯ และเป็นรัฐบาลหรือหน่วยงานในกรุงเทพฯ ที่มีอำนาจตัดสินใจว่าจะกระจายงบประมาณแต่ละปีไปเพื่อทำอะไรบ้าง

ภาพแบบเดียวกันยังเห็นได้จากบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นตัวแทนที่ส่วนกลางแต่งตั้งให้ไปดูแลท้องถิ่น แต่เมื่อถึงสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การระบาดของโควิด กลับมีอำนาจมากกว่านายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ) ซึ่งเป็นหัวหน้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเอง

เมื่ออำนาจรวมศูนย์มากๆ อยู่ที่ส่วนกลาง คนที่มีเงินมีอำนาจในท้องถิ่นจึงเข้ามาเติมเต็มช่องว่างตรงนี้ พัฒนาไปพร้อมๆ กับแผ่อิทธิพล มีพระเดชและพระคุณกับผู้คน และในกรณีที่โชคร้าย พระเดชอาจจะเยอะเป็นพิเศษกับคนที่เห็นไม่ตรงกัน

ถ้าเราเห็นว่าสิ่งนี้คือต้นตอของปัญหา การแก้ไขก็อาจเริ่มต้นจากการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ซึ่งไม่อาจทำได้ด้วยแค่ใช้บล็อกเชนจัดการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเรื่องกฎหมายและการเมืองด้วยเสมอ เลี่ยงไม่ได้เลย

หรือถ้าใครมองว่าปัญหาเกิดจากการคอร์รัปชันและอำนาจรัฐที่หละหลวม ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดได้อย่างจริงจัง สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกๆ นอกเหนือจากการสร้าง open data, open government เอาทุกอย่างมากางให้โปร่งใสตรวจสอบได้ คือการ “กล้า” พูดว่าเราต้องปฏิบัติต่อคนทุกคนให้เท่าเทียมกัน และเลิกชนชั้นวรรณะและบันดาศักดิ์ต่างๆ เสีย

ถ้าจะมีอะไรสักอย่างที่เราควรเริ่มที่ตัวเอง การ “กล้าพูดว่าเราต้องปฏิบัติต่อคนทุกคนให้เท่าเทียมกัน” นี่แหละครับคือสิ่งนั้น

พูดแบบนี้อาจดูอุดมคติไป แต่ถ้าเราไม่หลอกตัวเองก็จะเข้าใจได้ไม่ยากว่า ที่กฎหมายหละหลวม ลงโทษคนกระทำผิดไม่ได้ ไม่ใช่เพราะโทษไม่รุนแรงพอเพียงอย่างเดียว (หรืออาจจะไม่ใช่เหตุผลนี้เลยด้วยซ้ำ) แต่เป็นเพราะเรา ‘ไม่สามารถ’ ลงโทษคนทุกคนอย่าง ‘เท่าเทียมกัน’ ได้ต่างหาก

มีลูกคนนั้นหลานคนนี้ที่หลุดรอดจากกระบวนการยุติธรรมไปเสมอ การเพิ่มโทษคดีโหดๆ เช่น ข่มขืน = ประหาร จึงอาจจะทำให้คนที่มีอำนาจน้อยกลัวได้ แต่จะมีความหมายอะไรถ้าคุณเป็นลูกของใครบางคนที่ต่อให้ทำร้ายคนอื่นยังไงก็ไม่มีวันเอาผิดได้ หรือมีเงินมากพอจะซื้อกฎหมายไม่ว่าจะเขียนว่าอะไรอยู่ดี เคสพวกนี้มีให้เห็นในสังคมเราเป็นประจำ และขอเพียงใจเย็นๆ ค่อยๆ คิด เราก็จะเห็นทันทีว่าปัญหาไม่ใช่เรื่อง “ความรุนแรง” ของบทลงโทษเลย

การแก้ไขปัญหาการเลือกตั้งเลยอาจจะไม่ใช่แค่การเอาบล็อกเชนมาใช้ทื่อๆ แต่จำเป็นต้องเข้าใจสาเหตุหรือเบื้องลึกเบื้องหลังของปัญหาการเลือกตั้งจริงๆ ที่มากกว่าแค่เพราะคนจน ไม่มีการศึกษา เลย “ขายเสียง” อย่างไม่มีศักดิ์ศรี ในขณะที่พวกเราทั้งรวย ฉลาด และเป็นผู้ดี จึงมีศักดิ์ศรีพอจะไม่ “ขายเสียง” ของตัวเอง (แลกกับเงินสด)

การเลือกตั้งเป็นเพียงเสี้ยวเดียว (ที่ขาดไม่ได้) ของการเมืองที่ดี แต่ถ้าจะ

1) แก้เฉพาะการเลือกตั้ง ทว่าเรื่องโครงสร้างอื่นๆ ขอไม่แตะต้อง
2) รู้สึกเสมอว่า ‘การเมือง’ (โดยเฉพาะของคนยากคนจน) เป็นสิ่งสกปรก นักการเมืองทุกคน ‘น่ารังเกียจ’ ทั้งหมด มีแต่ฉันคนเดียวที่ ‘ไม่เลือกข้างทางการเมือง’ จึงแสนจะบริสุทธิ์ผุดผ่อง (และฉลาดกว่าคนทั่วไปเพราะถือบิตคอยน์) แถม
3) ยังอยากให้กฎหมายมีประสิทธิภาพ แต่ดันไม่เชื่อหรือไม่กล้าพูดว่าคนเราทุกคนเป็น ‘แค่’ มนุษย์เหมือนๆ กันด้วยอีกละก็

จะบล็อกเชนไปจนถึงควอนตัมคอมพิวเตอร์ ก็ไม่มีวันแก้อะไรที่ ‘สำคัญจริงๆ’ ได้หรอกครับ.

--

--